top of page
Bio-Sarot

ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาโรช  นาคะวิโรจน์  
อายุ                 83 ปี
เกิดที่                อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง  
ชื่อบิดา-มารดา      นายครุฑ   นาคะวิโรจน์  และนางอินทร์  นาคะวิโรจน์  ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว 
                      และมีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 10 คน
สำเร็จการศึกษา     ระดับปริญญาโท  ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.ม) 
                      สาขานาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

     ผศ.สาโรช  นาคะวิโรจน์  เป็นผู้ที่มีความช่ำชองและรักในการแสดงโนรามาตั้งแต่เล็ก  เนื่องจากท่านเป็นญาติใกล้ชิดทางฝ่ายตากับท่านขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่ม เทวา)  ดังนั้นท่านจะได้รับการปลูกฝังในการรักศิลปะการแสดงโนราจากท่านขุนอุปภัมภ์นรากร  ซึ่ง ผศ.สาโรช  นาคะวิโรจน์  จะเรียกชื่อตามศักดิ์เครือญาติว่า “ตาขุน” 
     ต่อมาเมื่ออายุ 10 ปี  เริ่มจดจำท่ารำตามครูโนราและทดลองฝึกรำด้วยความชอบ  เมื่อทางฝ่าย คุณตาหนูขาว  ศรีชุมพวง  ซึ่งเป็นญาติกับท่านขุนอุปถัมภ์นรากรทราบจึงห้ามมิให้ฝึกรำ  อยากให้เรียนหนังสืออย่างเดียว  จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของตาให้มุ่งฝักใฝ่เรื่องเรียน  ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา  แต่จิตใจยังรักและผูกพันกับการแสดงโนราอยู่ตลอดเวลา และช่วงที่ศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เริ่มมีโอกาสได้รำในงาน“งานพัทลุงสามัคคี” เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความชื่นชอบและประทับใจจากผู้มางาน 
ดังนั้นเมื่อมีงานกิจกรรมเกี่ยวกับชาวใต้ หรือสมาคมชาวใต้ก็จะได้รับการติดต่อไปรำอยู่สม่ำเสมอ จนจบการศึกษาซึ่งเป็นเวลาประมาณ 5 ปี  จึงไปรับราชการที่วิทยาลัยครูอุดรธานี
     ร่วมเวลา 10 ปี  ที่ได้ไปทำงานที่จังหวัดอุดรธานี  ก็ยังใช้ความรู้ด้านการรำโนรา ในการสอนวิชานาฎศิลป์ที่วิทยาลัยครูอุดรธานี  ในปี พ.ศ. 2512  อายุ 35 ปี  เมื่อย้ายมารับราชการที่วิทยาลัยครูสงขลา  ได้เริ่มฝึกโนราอย่างจริงจังกับท่านขุนอุปถัมภ์นรากร  เนื่องจากท่านมาสอนให้กับนักศึกษาวิทยาลัยครูสงขลา ซึ่งใช้เวลาฝึกสอนและเรียนรู้เป็นเวลา 3 ปี   ผศ.สาโรช  นาคะวิโรจน์  ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้ตามแบบฉบับท่านขุนอุปถัมภ์นรากรครบทุกกระบวนท่า  พร้อมพิธีกรรมในการแสดงโนราอย่างสมบูรณ์  จนเป็นที่ไว้วางใจในความรู้และการถ่ายทอดจากท่านขุนอุปถัมภ์นรากรและลูกศิษย์ทุกคน จากนั้นจึงได้ตั้งคณะโนราวิทยาลัยครูสงขลา  เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์การรำโนราแบบฉบับโบราณ และยังได้มีโอกาสได้รับความรักและเมตตาถ่ายทอดความรู้โนราจากศิลปินโนราที่อาวุโสและมีชื่อเสียงในอดีต เช่น     

- โนราช่วง  ควนเงิน (ช่วง  มณีเศวต)  ศิษย์โนราหมื่นระบำบันเทิงชาตรี

- โนราครื้น  ช่างทอง (ครื้น  สุริยะจันทร์)  ศิษย์โนราเจิม  ช่างทอง

- โนราลั่น  ทะเลน้อย (ลั่น  เพชรสุข)  ศิษย์โนราคล้าย  ดูกนวล

- โนรายก  เลน้อย (ยก  ชูบัว)  ศิษย์โนราวัน  สุขเกษม

- โนราจุก  ตรัง (จุก  รักราวี)  ศิษย์โนราแป้น  เครื่องงาม

     จากความรู้ความเชี่ยวชาญ และการได้รับความรู้เพิ่มเติมจากครูโนราทำให้  ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์  มีความรู้ด้านการแสดงโนรา  และใช้ฝึกฝนถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ได้มีความรู้ในการรำโนราอย่างเต็มเปี่ยม  และสร้างแบบแผนการแสดงโนราให้คนได้รู้จักอย่างกว้างขวาง  และแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานที่โดดเด่น

  • เป็นผู้ทำพิธีครอบครูโนราให้แก่ศิษย์

  • เป็นผู้ดำเนินการรายการวัฒนธรรมปริทัศน์ ทางช่อง 11 สงขลา เผยแพร่การแสดงโนรา ให้แพร่หลาย

  • หัวหน้าฝ่ายสงเสริมเผยแพร่  ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูสงขลา

  • ฝ่ายประสานงานโครงการความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่าง วิทยาลัยครูสงขลาและสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ

  • ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูสงขลาและสถาบันราชภัฏสงขลา

  • เลขานุการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา

  • จัดทำเอกสารการสอนโนราขั้นพื้นฐาน และบันทึกเทปทางสถานีโทรศัทน์ช่อง 11 สงขลา

  • กรรมการตัดสินการประกวดโนราในเวทีต่าง ๆ

  • ประธานที่ปรึกษาโครงการสืบสานวัฒนธรรมทักษิณ ในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

  • ประธานที่ปรึกษาหลักสูตรศิลปะการแสดง (โนรา)  สาขาศิลปะการแสดง  มหาวิทยาลัยทักษิณ

  • ประธานที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม  องค์การบริหารส่วนตำบลโตนดด้วน

  • เป็นผู้พัฒนาและฟื้นฟูด้านศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม  ประเพณีท้องถิ่นตามเทศกาลต่างๆ ของชุมชน

รางวัลที่ได้รับ

พ.ศ.2543     ได้รับเกียรติบัตรรางวัลดีเด่นในการผลิตผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน 

                จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ  
พ.ศ.2544     ได้รับโล่และเกียรติบัตรจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา  ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม  

                สาขาศิลปะการแสดง (โนรา)
พ.ศ.2544     รางวัลสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน  ประเภทสื่อพื้นบ้านภาคใต้ (ประเภทบุคคล)  

                 จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ  ร่วมกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลงาน                   สื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน  ในโครงการส่งเสริมผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน  ครั้งที่ 19  
พ.ศ.2549     ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขานาฏศิลป์และการละคร  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

พ.ศ.2558     รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกิจกรรมนันทนาการ ด้าน กิจกรรมการเต้นรำและฟ้อนรำ โดย กรมพลศึกษา

                กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

bottom of page