ขุนอุปภัมภ์นรากร(โนราพุ่มเทวา)
ขุนอุปภัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) เกิดวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลา ๑๑ นาฬิกา
เกิดเมื่อ ปีเถาะ พ.ศ.๒๔๓๔
เป็นบุตร นายเงิน นางชุม ช่วยพูลเงิน
ภูมิลำเนา บ้านเกาะม่วง หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
เมื่ออายุได้ ๗ ปี บิดาก็ถึงแก่กรรม มารดาก็ย้ายมาอยู่บ้านชายคลอง ตำบลชะมวง อำเภอเดียวกัน เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี มารดาได้นำไปฝากให้เข้าเรียนในสำนักท่านพระครูกาเดิม (หนู) ณ วัดวิหารเบิก ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย อยู่ที่นั่นไม่นาน พระครูกาเดิม (หนู) ไปกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าต้องกลับมาอยู่บ้านเดิม ต่อมาได้มีผู้มาชักนำให้ข้าพเจ้าลงไปทางขับร้อง ฟ้อนรำ ได้อุตส่าห์ฝึกฝนพากเพียรเรียนวิชาการรำโนรา กับนายชุม ที่ตำบลป่าพะยอมอยู่ประมาณ ๒ ปี ยังหาความชำนาญไม่ได้ก็ไปเล่าเรียนเพิ่มเติมกับนายลูกโก ซึ่งเป็นโนราอยู่บ้านไม้เสียบ ตำบลท่าประจะ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนวิชานี้อยู่ประมาณ ๘ ปี ก็สำเร็จวิชาทางรำโนรา บริบูรณ์ดี ข้าพเจ้าก็กลับมาอยู่บ้านตามเดิม
เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นอันเตวาสิกกับท่านพระครูกาชาติ (แก้ว) ณ วัดพิกุลทอง ศึกษาเล่าเรียนทางฝ่ายพระศาสนา และได้อุปสมบทที่วัดพิกุลทอง โดยมีท่านพระครูกาเดิม (หนู) เป็นอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้พยายามปฎิบัติธรรมในพระศาสนาตามพระวินัยแห่งพุทธบัญญัติตามกำลังของข้าพเจ้าที่จะปฎิบัติได้ ต่อจากนั้นได้ลาออกจากเพศบรรพชิตมาอยู่อาศัยกับนางพลับผู้เป็นพี่ของข้าพเจ้า (พี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน ๒ คนคือ พี่พลับ กับข้าพเจ้า) นิสัยของข้าพเจ้าชอบปรึกษาหารือกับสมณะชีพราหมณ์อยู่เสมอ ถึงแม้จะลาสิกขาบทแล้วก็จริง แต่ก็ยังถวายตัวเป็นศิษย์ ของท่านพระครูกาชาติ (แก้ว) อยู่นั่นเอง ท่านยังได้อบรมคุณงามความดีชี้ข้อผิดถูกอยู่เสมอมิขาดได้ พระเดชพระคุณของท่านนับว่ามีอุปการะต่อข้าพเจ้ามากที่สุด ข้าพเจ้าจึงระลึกถึงท่านอยู่ทุกเวลา แม้ว่าท่านจะล่วงลับมรณภาพไปสู่สุคติแล้วก็จริง ข้าพเจ้ายังมีความกตัญญูกตเวทีอยู่ทุกเมื่อ เมื่อข้าพเจ้ามีอายุได้ ๒๘ ปี ได้แต่งงานกับนางแหม้ว และได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน อาชีพของข้าพเจ้าคือ ทำนา ดำเนินการไปตามชอบธรรม อยู่เป็นสุขตลอดมา
พ.ศ.๒๔๖๘ ข้าพเจ้าอายุได้ ๓๕ ปี ในระหว่างนั้นกำนันตำบลชะมวง ว่างลง โดยเหตุที่กำนันพุ่ม นาคะวิโรจน์ ลาออก รองอำมาตย์โทขุนเทพภัคดี
นายอำเภอควนขนุน จึงเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกนายเพื่อเลือกกำนัน ที่ประชุมลงความเห็นชอบเลือกข้าพเจ้าเป็นกำนันตำบลชะมวง ข้าพเจ้ารับหน้าที่ราชการ ได้พยายามปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตธรรม มีพรหมวิหาร ๔ เป็นที่ตั้ง เพื่อผดุงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา
และพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันที่ข้าพเจ้าเคารพเทิดทูนเป็นที่สุด
พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อข้าพเจ้ารับราชการมาได้ ๖ ปี ก็ได้รับแต่งตั้งจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็น " ขุนอุปถัมภ์นรากร "
พ.ศ.๒๔๗๕ ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานเหรียญพระพุทธยอดฟ้า พระปกเกล้าฯ เนื่องในงานเฉลิมฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี
พ.ศ.๒๔๗๗ ราษฎรในตำบลชะมวงเลือกข้าพเจ้าเป็นผู้แทนตำบลชะมวงไปรับพระราชทานเข็ม เรียกว่า "เข็มผู้แทนตำบล "
พ.ศ.๒๔๗๘ รัฐบาลได้มอบเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐ บาท เป็นรางวัลที่ ๑ สำหรับกำนันในจังหวัดพัทลุง เพื่อตอบแทนความดีความชอบที่ทำงานตรง หน้าที่ ซื่อสัตย์ สุจริต พร้อมมอบประกาศนียบัตร ๑ ฉบับเป็นหลักฐานแห่งความดี
พ.ศ.๒๔๘๐ ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการอำเภอควนขนุนว่า ควรจะตัดถนนจากตำบลชะมวง ไปติดต่อกับตำบลป่าพะยอม ต่อกับถนนสาย ควนขนุน ทางอำเภอเห็นดีด้วย จึงได้ชักนำให้ข้าพเจ้านำราษฎรมาช่วยกันทำถนนจากตำบลชะมวง ไปตำบลป่าพะยอม มีเจ้าของที่ดินบาง คนขัดข้อง ข้าพเจ้าจึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากท่านพระครูกัลยาฯ เจ้าคณะแขวงอำเภอควนขนุน และท่านพระครูศิริรัตโนภาส เจ้า อาวาสวัดพิกุลทอง ได้ช่วยพูดคุยกับเจ้าของที่ดิน บางคนก็ได้ตกลง การทำถนนจึงดำเนินไปได้ตามความประสงค์โดยได้พูนดินเป็นตัวถนน บ้าง และได้ตัดทางไปติดต่อกับตำบลป่าพะยอม ได้สำเร็จ
พ.ศ.๒๔๘๑ ทางราชการได้จัด ให้นำข้าวพื้นเมืองไปประกวดในงานปีใหม่ ณ จังหวัดพัทลุง ข้าพเจ้าได้นำข้าวในครัวเรือนไปประกวด คือ
"ข้าวนางงาม" ในการประกวดนั้นได้รับรางวัลที่ ๑ ได้รับรางวัล ไถเกษตร ๑ เครื่อง กับเงิน ๑๕ บาท
พ.ศ.๒๔๘๕ ข้าพเจ้าได้ลาออกจากตำแหน่งกำนัน รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งนี้ ๒๐ ปี ออกไปประกอบอาชีพทำนา ค้าขายและทำสวน ในระหว่างนี้ได้ซื้อ ช้างไปขายที่จังหวัดยะลา และไปซื้อช้างที่จังหวัดชุมพรและระนองมาใช้งานลากไม้ ได้ทำงานนี้อยู่ ๑๐ ปี ในปีนี้ข้าพเจ้าได้มอบที่ดิน ๑ แปลงยาว ๑ เส้น กว้าง ๑๐ วา ให้แก่วัดพิกุลทองเพื่อเป็นสมบัติของสงฆ์
พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับการคัดเลือกจากอำเภอให้เป็นคนขยันของชาติ ในตำบลชะมวง ได้รับรางวัลแหวน ๑ วง เป็นตัวเงินเรือนทอง จารึกอักษรไว้ที่หัว แหวนว่า "เป็นคนขยันของชาติ" และได้รับบัตรประจำตัวลดค่าโดยสารรถไฟครึ่งราคา
พ.ศ.๒๔๙๙ ข้าพเจ้าได้ไปถวายตัวกับท่านเจ้าคุณพุทธิธรรมธาดาเข้าวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดสุวรรณวิชัย รู้สึกว่าได้รับผลอย่างดีเป็นที่ปลื้มใจอย่างยิ่ง
พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านพระครูสิริรัตโนภาส ได้จัดทำสะพานข้ามคลองเข้าวัด ได้นำเงินส่วนตัวถวาย ๑,๐๐๐ บาท เพราะถือว่าเป็นบุญจริงๆ พร้อมกับช่วยขอ
จากผู้มีจิตศรัทธา ๔,๐๐๐ บาท ลูกศิษย์เก่ามารำโนรา ๒ ครั้งได้เงิน ๑๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้นำถวายท่านพระครูศิริรัตโนภาส เจ้าอาวาส
วัดพิกุลทองเพื่อสมทบทุนทำสะพานและพระอุโบสถ ในโอกาสนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร บริจาคเพื่อสร้างประตู เหล็กพระอุโบสถเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท
ระยะการรำโนรา
เมื่อเรียนวิชารำโนราแล้วก็เที่ยวรำโนรา จนมีชื่อเสียงมากเป็นที่ชอบใจพอใจของผู้ดูผู้ชม ประชาชนได้ตั้งชื่อให้ว่า "โนราพุ่มเทวา" คือรำเหมือนเทวดาลงมาจากสวรรค์ ข้าพเจ้ามาหยุดรำโนรา เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ เพราะงานในตำแหน่งกำนันมีมากไม่มีเวลา จากนั้นก็ได้รำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ เมื่อคราวพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดพัทลุง
พ.ศ.๒๕๐๗ อาจารย์ใหญ๋โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูสงขลา (สมบุญ ศรียาภัย) ได้ให้อาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม มาขอร้องให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนรำ
โนราให้นักเรียน ข้าพเจ้าก็ไปให้ตามความประสงค์ และได้สอนจนถึงปัจจุบัน (วิทยาลัยครูสงขลา)
พ.ศ.๒๕๑๓ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร สั่งให้หลวงคเชนทรามาตย์นำข้าพเจ้าไปรำถวายที่โรงเรียนนาฏศิลป์
รำออกโทรทัศน์ช่อง ๔ และ รำเพื่อทำภาพยนต์ที่หนองแขม
พ.ศ.๒๕๑๔ ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูสงขลา (สมบุญ ศรียาภัย) ได้นำข้าพเจ้าไปรำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคณะโขนธรรมศาสตร์ดู
ณ โรงแรมสมิหลา สงขลา
รำถวายหน้าพระที่นั่ง ๕ ครั้ง
พ.ศ.๒๔๕๘ รำถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ณ พลับพลานาวง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
พ.ศ.๒๔๕๘ รำถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ณ หน้าวังสมเด็จฯ สงขลา
พ.ศ.๒๔๗๖ รำถวายสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จแทนพระองค์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ณ ภัตตาคารลำปำ จังหวัดพัทลุง
ได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเงิน ๕๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๐๒ รำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ณ หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง
ได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึก ๑ เหรียญ
พ.ศ.๒๕๑๔ รำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้รับพระราชทานเหรียญ ภ.ป.ร.
ในการรำครั้งนี้ข้าพเจ้าและคณะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด
ได้รับยกย่องและเชิดชูเกียรติ
จากคุณความดีที่ข้าพเจ้าได้ปฎิบัติมาแต่ต้น นักข่าวหนังสือพิมพ์วารสาร โทรทัศน์ช่อง ๑๐ หาดใหญ่ ได้นำประวัติของข้าพเจ้าไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
ดังกล่าว โดยยกย่องว่าเป็น "คนดีชาวใต้" ยังมีหนังสือพิมพ์อื่น ๆ เช่น สยามรัฐรายวัน วารสารศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ
ได้รับเชิดชูเกียรติ
เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๙๐ ปี สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ จังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราข ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า
"ขุนอุปถัมภ์นรากร" เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินภาคใต้ในการำโนรา ได้ฝึกลูกศิษย์ไว้มากมาย เป็นการรักษาศิลปะการรำประจำ
ภาคใต้ไว้มิให้สูญหาย ประกอบกับขุนอุปถัมภ์นรากร เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขมีผลงานดีเด่น จึงมีมติให้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินประจำภาคใต้ แก่ ขุนอุปถัมภ์นรากร ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๓ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
ได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์
เมื่ออายุได้ ๙๓ ปี วิทยาลัยครูสงขลาเสนอขอให้สภาการฝึกหัดครู พิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ขุนอุปถัมภ์นรากร ซึ่งเป็นผู้มีผลงานยอดเยี่ยมควรเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นศิลปินยอดเยี่ยมของภาคใต้ เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นบุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป สมควรแก่การยกย่องและเป็นบุคคลที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่น ในสาขาวิชาที่เปิดสอนในวิทยาลัยครู และผลงานทางวิชาการนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแก่บุคคลที่อยู่ในวงการศึกษา สภาการฝึกหัดครูอนุมัติปริญญาดังกล่าว ได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นบุคคลแรก จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ณ สวนอัมพร ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖
หลังจากได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ก็ได้ล้มป่วยด้วยความชรา ประมาณ ๔ เดือน ก็ถึงแก่กรรมด้วยความสงบ
ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๖ ณ บ้านพักบ้านหัวถนน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง