ภาพโนราในอดีต
ภาพโนราในรัชกาลที่ 7 (สังเกตจากภาษาคำว่า มโหรศพ)
เป็นมโนราของจังหวัดสงขลา ถ่ายรูปบริเวณหน้าโรงโนราแบบโบราณ มีขนาดเล็กคนดูรอบทิศ สร้างโรงด้วยเสาไม้กลมขนาดเล็ก โนราใหญ่แสดงท่า ทำนองพระเทวดา นางรำ นางรำซึ่งเป็นเด็กผู้ชายสองคนยืนอยู่ด้านข้างซ้ายและขวาแสดงท่าเสดื้องข้างซ้ายและข้างขวายกเท้าวางบนเข่าของโนราใหญ่ซึ่งจะเห็นความสวยงามของฉากขา และวงมือเหลี่ยมที่สวยงามนางรำทั้งสองคน ไม่สวมเทริด มีผ้าโพกศีรษะ ผู้รำทุกคนสวมเครื่องต้นมีสังวาลย์ ทับทรวงแต่มีขนาดเล็กและสั้น ความยาวระดับสะเอว นุ่งสนับเพลาสีคล้ำหรือดำ นักดนตรีนั่งบริเวณด้านหน้าถือทับคนละใบ ปี่และโหม่งอยู่ด้านตรงกันข้าม ด้านหลังโนรามีนายพรานยืนแสดงท่ารำเช่นเดียวกัน
(ข้อมูลภาพต้นฉบับค้นได้จากห้องสมุดคุณเอนก นาวิกมูล)
ภาพโนราคล้าย พรหมเมศ และลูกศิษย์
จากจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการนำของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการนครศรีธรรมราช เป็นผู้นำมาบันทึกท่ารำ เมื่อ พ.ศ. 2466 ณ วังวรดิศ กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกภาพท่ารำลงในหนังสือตำราฟ้อนรำ แสดงท่าโนราแบบต่าง ๆ โดยใช้เครื่องแต่งกายของโขนละครภาคกลางมาสวมใส่ โดยโนราคล้าย พรหมเมศ ใช้ชุดลูกปัดผสมชุดโขนละคร แสดงท่ารำแต่ใช้เทริดและเล็บโนราแบบภาคใต้ ผู้รำจะไม่สวมปีกหรือหางซึ่งมีท่ารำจำนวน 13 ท่า
โนรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันสมโภชพระมหาธาตุ
โนรา จังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงในงานวันสมโภชพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช บริเวณพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสภาคใต้ ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๔๘
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, ๒๕๓๘) รหัสภาพ : Neg 818160 - กจช (ส) 2717.
รายละเอียดภาพ
โนรามีทั้งหมดจำนวน ๘ คน สวมเทริดโนรา จำนวน ๔ คน และมิได้สวมเทริด ๔ คน รำอยู่บริเวณเสื่อซึ่งปูลาดบริเวณลานหน้าพระเจดีย์ และอุโบสถวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช โนรารำในท่าขี้หนอนร่อนรำ ผู้รำซึ่งมิได้สวมเทริดจะเห็นลำตัวช่วงบน มิได้มีชุดลูกปัดสวมใส่เหมือนโนรากลุ่มที่สวมเทริด ผู้รำแต่ละคนจะแสดงท่าขี้หนอน อยู่ในเกณฑ์สวยงามมาก เพราะปลายเท้ายกสูงอ่อนโค้ง เกือบจรดศีรษะ โดยเฉพาะคนโตที่สุด และจะเห็นสรีระช่วงอก ที่แข็งแรงและอ่อนโค้งชัดเจน เครื่องแต่งกายโนรา จะมีผ้านุ่งสวมสนับเพลายาว มีผ้าคาดเอว และผ้ายาวลงมา ๑-๒ ชิ้น
นายพรานอีก ๓ คน แต่งกายแตกต่างกัน คือ
นายพรานคนหนึ่งไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้าพาดไหล่, นายพรานคนที่ยืนด้านซ้าย สวมหน้า และสวมเสื้อ ส่วนคนที่ยืนด้านขวาไม่สวมเสื้อ
นักดนตรีนั่งบรรเลงโดยรอบ คนที่ตีโหม่งจะนั่งบริเวณด้านขวามือ
โนรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันสมโภชพระมหาธาตุ
โนรา จังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงในงานวันสมโภชพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช บริเวณพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสภาคใต้ ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๔๘ ในภาพจะมีเจ้านายพระองค์น้อย ยืนทอดพระเนตรโนราอยู่ใกล้ ๆ ด้วยความสนพระทัย บริเวณด้านหลังะเห็นอุโบสถหลังเดิมขนาดใหญ่ และศาลาการเปรียญ ประชาชนนั่งอยู่โดยรอบบริเวณหน้าศาลา และอุโบสถ
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, ๒๕๓๘) รหัสภาพ : Neg 73019 - กจช (ล) 2234
รายละเอียดภาพ
โนรามีทั้งหมดจำนวน ๕ คน ยืนรำบริเวณเสื่อกลางลาน รำในท่าขี้หนอนร่อนรำ โนรามิได้สวมลูกปัด บริเวณลำตัวช่วงบนมีผ้าห้อย ผูกมัด บริเวณสะเอว ปล่อยชายลงมาเป็นผ้าห้อยด้านหน้าทั้งสองข้าง จะสังเกตุได้ว่า มีกำไลปลายแขน กำไลมือและเล็บ สวมใส่จากวงมือและแขนที่ยืนซัดออกมาเป็นท่ารำ สนับเพลาจะนุ่งกรอมถึงข้อเท้า และมีผู้รำโนรา อีก ๒ ท่าน รำอยู่ด้านหลัง และนั่งรอการแสดง ได้สวมเทริดทั้ง ๒ คน มีการสวมชุดลูกปัดบริเวณลำตัว
นักดนตรีนั่งบรรเลง ตีทับและแตระ อยู่ด้านซ้าย และนักดนตรี ตีโหม่งนั่งอยู่ด้านขวามือ
โนรา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
โนรา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๓ คน นายโรง (สวมเทริด) และนางรำ ๒ คน (ไว้จุก) ยืนบริเวณหน้าโรงโนรารูปทรงสี่เหลี่ยม มีพนักกั้นวางโดยรอบ เมื่อคราวรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสภาคใต้ พ.ศ.๒๔๔๘
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร) รหัสภาพ : Neg 73022 - กจช (ส) 2234, Neg 72961-2333
รายละเอียดภาพ
จากภาพ ทำให้ทราบองค์ประกอบของนักแสดงโนรา คือ นายโรง และนางรำ ซึ่งใช้ผู้ชาย และเด็กผู้ชายที่ยังคงไว้จุกอยู่ นายโรง สวมเทริดพร้อมเครื่องต้น สร้อย สังวาลย์ ทับทรวง ปั้นเหน่ง กำไลปลายแขน พร้อมถือพระขรรค์ นุ่งสนับเพลากรอมเท้า ผ้าห้อยพับเป็นชั้นสอดติดกับหน้าผ้ามีลวดลายปักอย่างสวยงาม บริเวณไหล่ของผู้รำทั้งสามคน มีผ้าผืนเล็ก ๓ ชิ้น พับวางซ้อนกับบริเวณไหล่ นางรำทั้ง ๒ คนไว้ผมจุก มีปีกนกแอ่นขนาดใหญ่ ร้อยด้วยลูกปัดเส้น
เล็ก ๆ เป็นสังวาลย์ ติดบริเวณหน้าอก
โนรา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๘
โนรา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รำรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสภาคใต้ พ.ศ.๒๔๔๘ ผู้ชายในภาพคือ ตาเสือหรือพ่อยก ผู้ที่ชื่นชอบหลงไหลในการรำโนราของเด็กผู้ชาย ตาเสือจะคอยติดตาม ดูแลอำนวยความสะดวก เช่น ช่วยแบก หาม โนรา เด็ก ๆ มิให้เกิดอุปสรรคลำบากในการ เดินทาง โนราเด็กผู้ชายนั่งอยู่บนบ่า จะสวมสร้อยลูกปัด เป็นสังวาลย์คาด ๕ เส้น เป็นเส้นขนาดเล็ก และมีผ้าพาดบนบ่าด้านซ้าย มีผ้าห้อยเป็นผ้าสีผูกคาดห้อยลงมาด้านหน้า สนับเพลาจะเป็นสีคล้ำ ที่เชิงสนับเพลา ใช้ผ้าอีกชิ้นเย็บต่อเป็นเชิง มีรอยต่อเชิงติดไว้ เพื่อสะดวกในการเปิดและปิดเวลาสวมสนับเพลา
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร) รหัสภาพ : Neg 817043 - กจช (ส) 2684
โนรา จังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงหน้าพลับที่พระทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ บริเวณวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ.๒๔๔๘
โนรา จังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงในงานวันสมโภชพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช บริเวณพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสภาคใต้ ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๔๘
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร) รหัสภาพ : Neg 72918 - กจช (ส) 2232
รายละเอียดภาพ
จากภาพจะเห็นองค์ประกอบการแสดงโนราอย่างชัดเจน ผู้รำโนราผู้ใหญ่ ๓ คน สวมเทริด ๒ คน พร้อมชุดลูกปัด และไม่สวมเทริดแต่มีผ้าโพกศีรษะและพาดบ่า ๑ คน โนราผู้ใหญ่ โนราผู้ใหญ่ซัดท่าเขาควาย และอยู่ในกระบวนการรำท่าอื่น ๆ อีกสองคน จะสังเกตุโนราผู้ชายยืนหันหลังให้นุ่งผ้าโนราแบบจีบโจง หางหงส์เหมือนนุ่งตัวพระละครไทย พับม้วนจีบผ้าไม่หมดเหมือนการนุ่งผ้าโนราในปัจจุบัน มีผ้าคาดสะเอวอย่างชัดเจน โนราเด็กผู้ชายจำนวน ๓ คน ผู้รำซึ่งกลับหลังหันซัดท่าเขาควาย สวมปีกหรือหางหงส์ และสวมชุดลูกปัดเห็นลวดลายปิ้งคอชัดเจน และผู้รำเด็กอีกสองคนมีสนับเพลา ผ้าห้อย มิได้สวมชุดลูกปัด นอกจากนี้ โนราเด็กผู้ชายสวมกำไลปลายแขน แต่ไม่มีต้นแขนและเล็บเหมือนโนราผู้ใหญ่
นักดนตรีนั่งบรรเลง ตีกลองขนาดเล็ก ๑ ใบ และตีแตระอีก ๒ คน อยู่บริเวณโดยรอบด้านขวา
โนรา จังหวัดสงขลา แสดงถวายการต้อนรับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ณ บริเวณแหลมสน สมิหลา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๗
โนรา จังหวัดสงขลา แสดงถวายการต้อนรับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ณ บริเวณแหลมสน สมิหลา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๗
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร) รหัสภาพ : ภอ สบ 26/31
รายละเอียดภาพ
จากภาพจะสังเกตุเห็นโรงโนรา ปลูกขึ้นมาเพื่อใช้แสดงโดยเฉพาะ เป็นรูปหลังคาจั่ว คนดูสามารถดูได้รอบทิศทาง โนราจำนวน ๓ คน รำท่าขี้หนอนร่อนรำ บริเวณหน้าโรงโนรา ผู้รำคนยืนตรงกลาง เป็นหัวหน้าวง หรือนายโรง เพราะสวมเทริด สวมลูกปัด สังวาลย์ ที่ทรวงอกชัดเจน ผู้รำอีก ๒ คน หรือนางรำโพกศีรษะ และไม่โพกศีรษะ สวมชุดลูกปัดโนรา สมบูรณ์แบบมีสังวาลย์ปีกนกแอ่น ทับทรวง
โนราที่บ้านนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี พ.ศ.๒๔๖๐
โนราที่บ้านนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อนายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสด็จภาคใต้
(ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร) รหัสภาพ : ภ.สบ.47/191
รายละเอียดภาพ
ผู้รำโนรา จำนวน ๓ คน รำอยู่บริเวณหน้าซุ้มต้อนรับ นักแสดงโนราผู้ชายสวมเทริด จำนวน ๑ คน และไม่สวมเทริดจำนวน ๒ คน รำในท่าผาลา ผู้รำคนกลางยกผาลาขาด้านซ้าย ผู้รำคนด้านขวาซึ่งตัวเล็กกว่า ยกท่าผาลาขาด้านขวา ซึ่งทั้งสองคนยังไว้จุกขณะรำโนรา
เครื่องแต่งกายส่วนบน สวมปีกนกแอ่นและสร้อยคอ นุ่งสนับเพลากรอมถึงข้อเท้า มีผ้าห้อยบาง ๆ คลุมบริเวณขา ผู้รำโนราซึ่งเป็นนายโรงหรือโนราใหญ่ จะสวมเทริดทรงสูงใหญ่ แสดงท่ารูปเขียน ซึ่งยกขาขวาออกไปด้านข้างได้สูงสง่า และเหยียดมือขวา แขนเหยียดตรงวางบนเข่าขวา มือซ้ายรำท่าเขาควาย เครื่องแต่งกายส่วนบน สวมสร้อยคอประดับทับทรวง นุ่งสนับเพลา กรอมถึงข้อเท้า มีผ้าห้อยหน้าและผ้าห้อยข้างยาวเลยเข่าลงมา ซึ่งเป็นที่นิยมในอดีต
โนรา พ.ศ.๒๔๔๖ (ไม่ปรากฏสถานที่) ตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ ๕
โนราเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ภาพดังกล่าวแสดงท่ารำบนเสื่อคล้ากลางลานดิน มีนักดนตรีเป่าปี่ ๒ เลา จำนวน ๒ คน กลองและทับอยู่บริเวณลานหญ้าซ้ายมือของนักแสดง นักแสดงซึ่งเป็นโนราใหญ่ยืนลงฉาก แต่ยังไม่ลงเหลี่ยมเต็มที่ มือรำท่าผาลา นางรำไว้จุกอีก ๒ คนยืนท่าเดียวกัน แต่ยืนคร่อมเข่านายโรงคนละข้าง มือรำในท่าจีบคว่ำทั้งสองคน บริเวณด้านหลังขวาของโนราใหญ่ จะมีนายพรานนั่งยอง ๆ โผล่หน้ามา
ลักษณะการแต่งกาย นายโรงแต่งกายด้วยชุดโนราสมบูรณ์แบบ และแปลกตาอีกยุคหนึ่ง เพราะศีรษะประดับด้วยเทริดทรงสูงมาก และยอดเทริดมีเกี้ยวลดหลั่นลายประณีต จำนวน ๗ ชั้น เครื่องประดับลำตัว ประกอบไปด้วย อินธนูสองข้างประดับและผูกมัดบริเวณไหล่ ในขณะเดียวกันมีลูกปัดร้อยเป็นเส้นสร้อยสังวาลย์คล้องไหล่และทาบบริเวณอก คล้ายกับเป็นตาข่ายเชื่อมกัน ๔ เส้น ปลายของสังวาลย์ที่บริเวณสะเอวด้านหน้าและด้านข้างมีทับทรวง ปีกนางแอ่นขนาดใหญ่ประดับอยู่ คลุมสนับเพลายาวถึงข้อเท้า ส่วนปลายแขนจะมีกำไลและนิ้วมือจะสวมเล็บยาว
ผู้รำซึ่งเป็นนางรำทั้งสองคนแอ่นลำตัวออกไปด้านหลัง มือซ้ายและมือขวาของนายโรงวางบริเวณเหนืออก เกือบถึงไหล่ทั้งสองคน นางรำสวมสังวาลย์และทับทรวงมีลูกปัดร้อยเป็นเส้นขนาดเล็ก พร้อมกับคาดหางหรือลูกปัดโนรา ผ้านุ่งสนับเพลา ผ้าห้อยมีขนาดใหญ่และหนาเช่นเดียวกัน
ภาพดังกล่าวนี้เห็นเอกลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการแสดงโนราอาจจะเกิดความคิดอิสระของนายโรงเองหรืออาจเกิดจากบทบาทและอิทธิพลของวัฒนธรรมหลวงเข้ามาแล้วโนรามาปรับใช้หรืออาจเป็นนิยมแบบวัฒนธรรมหลวงที่เห็นว่าดีงาม แล้วนำมาใช้ทั้งดนตรีปี่ลองเลาหรืออินธนูบนบ่าแต่ต่อมาไม่นิยมหรือตัวนักแสดงและดนตรียุ่งยากจึงลดทอนหายไปและปรับมาใช้ที่เหมาะสมกว่า
ภาพจาก : Siam, Thailand & Bangkok old Photo Thread http://teakdoor.com